วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ไฮโดรโปนิกส์ (Hydroponics) คืออะไร

ไฮโดรโปนิกส์ (Hydroponics)
การปลูกพืชแบบไม่ใช้ดิน..จากโรงเรือนสู่โครงการอาหารกลางวัน

ปัจจุบันกระแสการหันมาใสใจในสุขภาพของคนไทยมีมากขึ้นเป็นลำดับ ผักปลอดสารพิษ ผักกางมุ้ง และผักไฮโดรโปนิกส์ จึงเป็นทางเลือกใหม่ของผู้บริโภคที่กำลังได้รับความนิยมขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งนอกจากจะปลอดภัยจากสารพิษตกค้างแล้ว สีสันยังดูน่ารับประทาน และรสชาติดีอีกด้วย
ณ วันนี้ ผักไฮโดรโปนิกส์ นอกจากจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของสุขภาพคนไทยแล้ว ยังจะเป็นหนึ่งในโครงการอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนในชุมชนใกล้เคียงของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส) ที่อาจารย์อารักษ์ ธีระอำพน อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ได้วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ลงไปสู่โรงเรียน ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางการศึกษาของชุมชน และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ เทคโนโลยีและการจัดการที่ใช้ปลูกยังจะช่วยบ่มเพาะให้เยาวชนเกิดการเรียนรู้ รวมถึงกระตุ้นความสนใจในวิทยาศาสตร์อีกด้วย

"ไฮโดรโปนิกส์" (Hydroponics) คือการปลูกพืชแบบไม่ใช้ดิน โดยหลักการแล้ว มี 2 แบบ คือ การปลูกในน้ำ ซึ่งบริเวณรอบๆ รากของพืชเป็นของเหลว และการปลูกในวัสดุแข็ง เช่น แกลบ ทราย ขุยมะพร้าว หินภูเขาไฟ ซึ่งเป็นวัสดุปลูกที่ไม่ได้ให้ธาตุอาหารกับพืชแต่อย่างใด ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นวัสดุที่ช่วยค้ำและพยุงรากนั่นเอง

ในอดีต กระแสความนิยมของการปลูกพืชแบบนี้เป็นไปเนื่องเพราะความพยายามของบริษัทนำเข้าอุปกรณ์การปลูกมากกว่าจะเป็นกระแสบริโภคนิยมอย่างแท้จริง ทำให้ผักไฮโดรโปนิกส์ซบเซาไปพักหนึ่ง ก่อนที่จะกลับมาได้รับความนิยมขึ้นอีกครั้งตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ด้วยคนไทยหันมาสนใจสุขภาพมากขึ้น กระแสการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์จึงกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งจากผู้บริโภค เกิดตลาดรองรับ และแม้แต่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ก็เล็งเห็นความสำคัญของการขยายตัว จึงให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการลงทุนด้านนี้ ทำให้มีผู้สนใจเข้ามาทำมากขึ้น ก่อให้เกิดรูปแบบ เทคนิค และเทคโนโลยีในการผลิตที่หลากหลายขึ้น กลายเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคตามมา

อาจารย์ อารักษ์กล่าวว่า พืชที่นิยมปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์ กว่า 90 % เป็นประเภทพืชผักที่ใช้รับประทานในชีวิตประจำวัน อาทิ ผักสลัดหรือผักกาดหอมต่างประเทศ ในอดีตที่ต้องนำเข้ากิโลกรัมละหลายร้อยบาท แต่ปัจจุบันสามารถลดการนำเข้าได้เกือบ 100 % นอกจากนี้ยังเป็นพืชผักประเภทกลุ่มผักตะวันออก เช่น คะน้า กว้างตุ้ง คะน้าฮ่องกง ผักกาดขาว เป็นต้น ซึ่งปรากฏว่ามีคนสนใจเริ่มมาทำตรงนี้มากขึ้น และมีผลตอบรับค่อนข้างดี พืชผักกลุ่มนี้ก็ตอบสนองต่อระบบนี้ได้ดี ตลาดกว้างขึ้น ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ผักต่างประเทศกลุ่มเดียวเท่านั้น พืชผักที่มีมูลค่าทางการตลาดสูง เช่น แตงเทศหรือแตงแคนตาลูป ที่ฟาร์มมหาวิทยาลัยกำลังผลิตอยู่ ซึ่งหากปลูกในสภาพแวดล้อมปกติจะต้องใช้สารเคมีจำนวนมาก มีสารพิษตกค้าง ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค แต่หากปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ รวมทั้งสามารถควบคุมคุณภาพได้ด้วย และแม้แต่พืชผักและพืชสมุนไพร เช่น สะระแหน่ วอเตอร์เครส หญ้าปักกิ่งหรือหญ้าเทวดา ก็สามารถตอบสนองต่อระบบไฮโดรโปนิกส์ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะหญ้าเทวดา พบว่าให้ผลผลิตสูงมากเมื่อเทียบต่อตารางพื้นที่ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษา"

ส่วนวิธีการจัดการการดูแลผักไฮโดรโปนิกส์ ต้นทุนส่วนใหญ่จะตกอยู่ที่ค่าใช้จ่ายในการสร้างโรงเรือนและวัสดุปลุกซึ่งค่อนข้างสูง นอกจากนี้สภาพแวดล้อมของเมืองไทยยังไม่เหมาะสม และงานวิจัยทางด้านนี้ยังมีน้อย "…การจะปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ พืชบางชนิดจำเป็นต้องปลูกในโรงเรือน เช่น แคนตาลูป ซึ่งมีแมลงศัตรูมาก การปลูกในโรงเรือนช่วยกันแมลง กันฝน กันสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม รวมถึงสามารถลดการใช้สารเคมีได้เกือบ 100 % ขณะเดียวกันการปลูกสลัดก็ไม่จำเป็นต้องใช้โรงเรือน เพราะเป็นพืชที่แทบจะไม่มีแมลงศัตรู เป็นต้น ดังนั้นผมคิดว่าจะใช้โรงเรือนหรือไม่ขึ้นอยู่กับชนิดของพืชมากกว่า เพราะการจัดการโรงเรือนและวัสดุปลูกเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูง โดยฝ่ายวิเคราะห์ต้นทุนของธนาคารกสิกรไทย พบว่า การจัดการโรงเรือนเป็นค่าใช้จ่ายมากกว่าครึ่งหนึ่งของงบประมาณที่ลงไป แต่ถือว่าเป็นงบลงทุนซึ่งมีผลในระยะยาว ในระดับมหาวิทยาลัยเราเน้นว่าการจัดการควรเป็นเทคโนโลยีแบบง่ายๆ ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศให้ได้มากที่สุด และพัฒนาระบบและเทคโนโลยีของเราเองขึ้นมา เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ประเพณีหรือวัฒนธรรมของเรา พยายามลดต้นทุนในด้านต่างๆ เช่น หาวัสดุปลูกในประเทศ เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าจุดคุ้มทุนเป็นอย่างไรในการลงทุน การลงทุนในครั้งแรกอาจจะแพงกว่าการปลูกในดินแต่ในระยะยาวหรือภายใน 1 ปี ก็สามารถคืนทุนได้ ฉะนั้นจึงไม่เป็นปัญหาว่าจะเกิดการล้มเหลว แต่มีข้อแนะนำคือหากจะเริ่มก็ไม่ควรเริ่มต้นจากโครงการใหญ่ๆ ต้องลองจากขนาดเล็กๆ ก่อน เพื่อให้รู้จักวิธีการจัดการ เทคโนโลยี รวมถึงมีความเชี่ยวชาญก่อน เมื่อมั่นใจแล้วจึงขยายออกไป"

ท่ามกลางกระแสบริโภคนิยม สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนจะหลีกเลี่ยงได้ยากก็คือกระแสของการคัดค้าน ซึ่งเหมือนสองด้านของเหรียญอันเดียวกันที่มองต่างมุม "…มีข้อมูลเชิงลึกที่ถกเถียงกันในระดับนานาชาติ ก็คือ เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าไฮโดรโปนิกส์ใช้ปุ๋ยเคมี ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็ออกมาบอกว่าน่าจะมีสารตกค้างในพืช โดยเฉพาะสิ่งที่กลัวกันที่สุดคือปุ๋ยเคมีที่เป็นพวกไนโตรเจนไนเตรท ว่าเกี่ยวข้องกับสุขภาพคนโดยตรง แต่ทางไฮโดรโปนิกส์ ก็แย้งว่าถ้าคุณมีความรู้ทางด้านวิชาการ จะรู้ว่าการตกค้างของสารไนโตรเจนไนเตรทแทบจะไม่มีเลย หรือมีก็ไม่อยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เราใช้ปุ๋ยเคมีจริง แต่คนที่กินผักไม่ได้กินสารเคมีโดยตรง เพราะว่ามันต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน เปลี่ยนสภาพมาเป็นเนื้อเยื่อเป็นอะไรต่างๆ จึงค่อนข้างมั่นใจว่าเราสามารถตอบคำถามตรงนี้ได้ และในฐานะนักวิชาการที่คลุกคลีอยู่ ผมยืนยันได้ว่าปลอดภัยแน่นอน ไม่ต้องกลัวเรื่องสารพิษตกค้าง ไม่มีแน่นอนคน เพราะฉะนั้นคนที่ทำไฮโดรโปนิกส์จึงไม่กังวลกันมากนักถ้าต้องสู้กันด้วยหลักฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ แต่ถ้าเป็นเรื่องของกระแสการบลั๊พกันก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามสภาพความเป็นจริง ก็ต้องให้ผู้บริโภคเป็นผู้ตัดสินว่าจะเชื่อฝ่ายไหน"

การปรับแปลง ถ่ายทอด และพัฒนาเทคโนโลยีไปสู่ชุมมชนถือเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่สำคัญของมหาวิทยาลัย โดยอาจารย์อารักษ์ได้เริ่มเข้าไปมีบทบาทในการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาการวิจัยไปสู่ชมชนโดยรอบ ด้วยการเข้าไปส่งเสริมให้โรงเรียนได้ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์เพื่อเป็นโครงการอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียน "…โครงการนี้เกิดจากการที่เราทำวิจัยได้ระดับหนึ่ง โดยเริ่มจากการทำวิจัยที่เน้นเป็นเชิงธุรกิจขนาดเล็กที่สุด เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับผู้ที่ต้องการทำธุรกิจขนาดเล็กและเกษตรกรผู้สนใจ เป็นการหาคำตอบในทุกๆ ด้าน เช่น ต้นทุน เทคโนโลยี ซึ่งมีผู้สนใจมาศึกษาดูงานเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้โรงเรียนต่างๆ ก็สนใจจะทำผักไฮโดรโปนิกส์ แต่ยังขาดความรู้และเทคโนโลยี จึงมีการประสานงานและศึกษาหาข้อมูลเบื้องต้น ปรากฏว่า โรงเรียนต่างๆ ให้ความสนใจ เบื้องต้นในภาคการศึกษาที่ 1/2544 เราเข้าไปส่งเสริมจำนวน 20 โรงเรียนในเขตอำเภอด่านขุนทดก่อน โดยการสำรวจ รับทราบปัญหาและอุปสรรค อบรมครูและผู้บริหารเพื่อถ่ายทอดต่อให้นักเรียน ผลิตวีดีทัศน์เพื่อให้สามารถศึกษาด้วยตัวเองได้ ผลิตชุดปลูกเริ่มต้นแจกฟรี หลังจากนั้นจะติดตามประเมินผลเป็นระยะๆ ว่าสิ่งที่ได้อบรมถ่ายทอดไป เมื่อโรงเรียนไปทำเองผลเป็นอย่างไร คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน โดยได้รับการสนับสนุนจาก สวทช.

"โครงการนี้ นอกจากจะเป็นการส่งเสริมโครงการอาหารกลางวันแล้ว ยังเป็นการให้เด็กได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ไปด้วยอีกทางหนึ่ง ที่สามารถมองเห็นและสัมผัสได้จริง ได้เรียนรู้ ทดลองทำ ได้ประสบการณ์ สนุกที่จะเรียนรู้ และเกิดความสนใจในวิทยาศาสตร์ในที่สุด นอกจากนี้ ยังจะทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างมหาวิทยาลัยและชุมชน มีการเชื่อมโยงกับชุมชน นอกจากนี้ผลพลอยของโครงการนี้ ต่อไปหากโรงเรียนอื่นๆ สนใจก็อาจไปศึกษาจากโรงเรียนในโครงการได้ รวมถึงโรงเรียนเองอาจทำหน้าที่เป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร โดยที่มหาวิทยาลัยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงเท่านั้น ก็จะเป็นประโยชน์หลายต่อ สำหรับหน่วยงานหรือผู้สนใจข้อมูลทางด้านไฮโดรโปนิกส์เรายินดีให้คำปรึกษาเต็มที่" อาจารย์อารักษ์กล่าวในที่สุด

ในยุคของการพึ่งพาเทคโนโลยี เราคงปฏิเสธไม่ได้ที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไฮโดรโปนิกส์ก็เช่นเดียวกัน อาจดูใหม่และไกลเกินเอื้อมสำหรับบางคน แต่ ณ วันนี้ เทคโนโลยีนี้จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพราะมันกำลังเข้ามามีบทบาทอย่างเป็นรูปธรรมในการบ่มเพาะและพัฒนาเยาวชนของชาติให้เข้าสู่ขั้นตอนของการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์จริง รวมถึงการเชื่อมโยงชุมชนและโรงเรียนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป…

1 ความคิดเห็น:

  1. ข้อเด่นและข้อด้อย ในการปลูกพืชแบบไม่ใช้ดิน
    ข้อเด่น

    1. สามารถปลูกพืชได้ทุกที่ที่มีสิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสม
    เช่น ตามระเบียงอาคารและพื้นที่ที่ไม่สามารถปลูก
    พืชทางดินได้ เช่น ดินเค็ม
    2. ประหยัดพื้นที่ปลูกโดยกำหนดระยะปลูกในระยะชิด
    ได้ตามที่เราออกแบบไว้
    3. สามารถดูแลได้ทั่วถึงเรื่องจากมีการสร้างระบบที่ง่าย
    ต่อการควบคุมและสามารถป้องกันโรคและแมลง
    หรือศัตรูพืชอื่น ๆ ได้
    4. ไม่มีปัญหาในการกำจัดวัชพืชในพื้นที่ปลูก
    5. ไม่ต้องเตรียมพื้นที่ปลูกโดยไถพรวน สามารถลด
    การทำลายหรือการชะล้างหน้าดิน
    6. ประหยัดน้ำ และปุ๋ย เพราะสามารถควบคุมได้ตามที่
    ต้นพืชต้องการ
    7. มีผลผลิตสม่ำเสมอและอายุเก็บเกี่ยวเร็วขึ้นเนื่องจาก
    พืชสามารถนำธาตุอาหารไปใช้อย่างสม่ำเสมอ
    8. ผลผลิตมีความสะอาด สด คุณภาพดี
    9. เด็ก ผู้หญิง คนชรา คนพิการ สามารถทำได้
    10. สามารถนำไปปลูกบนเรือนเดินสมุทรหรือ
    บนดาวเทียมได้

    ข้อด้อย

    1. ในทางปฏิบัติอาจทำได้ไม่กว้างขวางเนื่องจาก
    ปัจจุบันยังอาศัยเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
    2. ผู้ปลูกต้องมีความรู้อย่างแท้จริงต่อพืชที่ปลูกและ
    เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างธาตุอาหาร น้ำ ต้นพืช
    3. ความหลากหลายของพืชที่ปลูกแบบไม่ใช้ดินยังมี
    น้อยในบ้านเรา
    4. ปัญหาพื้นที่ที่มีพายุต้องมีการสร้างโรงเรือน
    ป้องกันลม กรณีถ้ามีลมพัดแรงมากจำเป็นต้องมี
    การค้ำยัน เนื่องจากการยึดต้นของรากไม่แข็งแรง
    เช่นเดียวกับการปลูกลงดิน
    5. เงินลงทุนครั้งแรกค่อนข้างสูง
    6. ปัญหาในด้านการตลาดยังไม่กว้าง เนื่องจากเป็น
    การปลูกผักต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่และใน
    ปัจจุบันกลุ่มผู้บริโภคยังจำกัดอาจทำให้เกิดปัญหา
    ด้านการตลาดที่ทำให้ราคาลดลงเรื่อย ๆ

    ตอบลบ