วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2553

การจัดการผักปลอดสารพิษ

Hydroponics คืออะไร ?
Hydroponics หรือที่ในภาษาไทยอ่านว่า ไฮโดรโพนิกส์ หรือ ไฮโดรโปนิกส์ (ไม่ใช่ ไฮโดรโฟนิกส์ อย่างที่หลายคนเรียกกัน) คำว่า Hydroponics มีรากศัพท์มาจากคำในภาษากรีก 2 คำคือ Hydro แปลว่า น้ำ Ponos แปลว่า งาน ซึ่งเมื่อนำ 2 คำมารวมกัน จะมีความหมายว่า การทำงานที่เกี่ยวกับน้ำ เมื่อนำมาใช้กับการปลูกพืช จะหมายถึง การปลูกพืชลงบนสารละลายธาตุอาหารพืช โดยให้รากพืชสัมผัสกับสารละลายโดยตรง
ความสำคัญของ "Hydroponics"
หลายคนอาจจะสงสัยว่า ปลูกพืชด้วยดินตามปกติก็สามารถปลูกได้ ทำไมเราจึงต้องเปลี่ยนมาใช้วิธี Hydroponics ในปัจจุบันปัญหาด้านการเกษตรนั้นมักพบว่าดินเสื่อมคุณภาพ ทั้งจากการใช้ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช เกิดสารพิษตกค้างตลอดการสะสมโรคและแมลง ทำให้การปรับปรุงดินที่เสื่อมคุณภาพให้สามารถกลับมาปลูกพืชได้นั้น ค่อนข้างยุ่งยาก หรือเสียค่าใช้จ่ายสูง แนวโน้มของผลผลิตที่มีคุณภาพก็ลดลง การปลูกพืชด้วยระบบ Hydroponics จึงเป็นทางเลือกที่จะทำให้เราสามารถปลูกพืชได้ผลผลิตตลอดทั้งปีและมีคุณภาพโดยไม่ต้องใช้ยาปราบศัตรูพืชที่มากับดินอีกด้วย นอกจากนั้นการปลูกพืชด้วยระบบ Hydroponics ยังใช้ระยะเวลาในการปลูกพืช เร็วกว่าการปลูกด้วยดิน เนื่องจาก รากพืชสามารถรับสารอาหารที่ละลายอยู่ในน้ำได้โดยตรง แต่การปลูกพืชด้วยดินนั้น เราจะใส่สารอาหารลงในดิน พืชก็ไม่สามารถนำมาใช้ได้หมดและยังสูญเสียพลังงานในการดูดสารอาหารอีกด้วย
ข้อดีและข้อเสียของการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน
การปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ในส่วนของข้อดีนั้น จะโดดเด่นในเรื่อง การจัดการด้านต่างๆ ประสิทธิภาพและปริมาณที่สามารถผลิตได้มากกว่าในดิน เมื่อเทียบพื้นที่การผลิตที่เท่ากัน สำหรับข้อเสียนั้น จุดที่สำคัญน่าจะเป็นในเรื่องการควบคุมดูแลเอาใจใส่ที่ต้องสม่ำเสมอ มากกว่า การลงทุนในเบื้องต้น บางคนบอกว่าการลงทุนค่อนข้างสูง แต่ถ้าบริหารจัดการให้ดีก็สามารถคืนทุนได้เร็ว
ข้อดี
1. สามารถทำการเพาะปลูกพืชในบริเวณพื้นที่ที่ดินไม่ดี ดินเสื่อมสภาพ
2. ประหยัดเวลา แรงงาน และค่าใช้จ่ายในการเตรียมดิน และการกำจัดวัชพืช
3. สามารถปลูกพืชได้อย่างต่อเนื่องตลอดปี ในพื้นที่เดิม เนื่องจากไม่ต้องเตรียมดิน และกำจัดวัชพืช
4. สามารถตัดปัญหาเกี่ยวกับศัตรูพืชที่เกิดจากดิน ทำให้สามารถปลูกพืชในพื้นที่เดียวกันได้ตลอดปีถึงแม้จะเป็นพืชชนิดเดียวกัน
5. เป็นระบบที่มีการใช้น้ำ และธาตุอาหารพืชอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพ
6. เพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้แรงงาน
7. สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโตของพืชได้อย่างถูกต้องแน่นอน และรวดเร็วโดยเฉพาะในระดับรากพืช ได้แก่ การควบคุมปริมาณธาตุอาหาร ความเป็นกรด - ด่าง อุณหภูมิความเข้มข้นของออกซิเจน ฯลฯ ซึ่งการปลูกพืชทั่วไปทำได้ยาก
8. พืชเจริญเติบโตเร็วกว่าการปลูกในดิน ผลผลิตรวมต่อปี จะมากกว่าการปลูกในดิน เมือเทียบพื้นที่การผลิตที่เท่ากัน
9. ผลผลิตที่ได้สะอาด และมีความสม่ำเสมอ
ข้อเสีย
1. เป็นระบบที่มีราคาแพง เนื่องจากประกอบด้วยอุปกรณ์ต่างๆมากมาย ต้นทุนการผลิตเริ่มต้นอาจจะสูง
2.จะต้องใช้ผู้ที่มีความชำนาญ และประสบการณ์มากพอสมควร ในการควบคุมดูแล
3. ต้องการการควบคุมดูแลอย่างสม่ำเสมอ

การเลือกพื้นที่สำหรับการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน
ในการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน มีข้อได้เปรียบในเรื่อง ดินที่ไม่จำเป็นต้องใช้ ซึ่งช่วยลดปัญหาเรื่อง การเตรียมดิน ศัตรูพืชในดิน วัชพืช ต่างๆ ซึ่งช่วยให้ประหยัดเวลาและแรงงานด้วย สำหรับการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินนั้น ควรต้องพิจารณาเรื่องพื้นที่ และสภาพแวดล้อมที่จะใช้ในการผลิตด้วย เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืช โดยทั่วไปการผลิตพืชผักในโรงเรือน ควรพิจารณาในการเลือกพื้นที่ดังนี้
ต้องมีน้ำที่มีคุณภาพดีและมีปริมาณเพียงพอ โดยทั่วไปสำหรับพื้นที่การผลิต 1 ไร่ ซึ่ง ผลิตด้วยระบบการปลูกพืชแบบ NFT ความต้องการใช้น้ำจะอยู่ที่ 4,000-7,000 ลิตร ต่อ วัน และหากน้ำที่จะนำมาใช้ถ้าคุณภาพน้ำไม่ดีควรติดตั้งระบบกรองน้ำ เพื่อปรับปรุงให้น้ำมีคุณภาพที่เหมาะสมกับการผลิตด้วย
มีแสงแดดส่องทั่วถึง ในพื้นที่จากทิศตะวันออก-ตะวันตก โดยถ้าในพื้นที่มีแสงแดด น้อยควรปลูกพืชขวางตะวันเพื่อให้พืชผักสามารถรับแสงแดดเพื่อการเจริญเติบโตได้เต็มที่ และในพื้นที่ควรมีแสงแดดอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน
ควรเป็นพื้นที่ราบเรียบ พื้นที่สำหรับการผลิตควรเป็นพื้นที่ราบเรียบหรือสามารถปรับระดับพื้นที่ตามที่ ต้องการได้ง่าย
เป็นพื้นที่ที่ดินมีการระบายน้ำดี เป็นพื้นที่ที่ดินมีการระบายน้ำดีพอสมควร โดยดินต้องมีความสามารถในการซึมน้ำลงได้ในอัตราอย่างน้อย 2.5 เซนติเมตร หรือ 1 นิ้วต่อชั่วโมง
มีไฟฟ้าเข้าถึงในพื้นที่ มีการถ่ายเทอากาศดี และควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีลมแรง อยู่ใกล้ที่พักพอสมควรเพื่อสะดวกในการควบคุมการผลิตอยู่เสมอ อยู่ใกล้แหล่งชุมชน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง
อยู่ห่างไกลจากแหล่งผลิตพืชชนิดอื่นๆ อยู่ห่างไกลจากแหล่งผลิตพืชชนิดอื่นๆพอสมควร เช่นแหล่งนาข้าว หรือแปลงปลูกพืชอื่นที่มีบริเวณกว้าง ทั้งนี้เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคและแมลง เข้าสู่พื้นที่การผลิต ยกตัวอย่างเช่น นาข้าวในกรณีที่มีการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชหรือมีการเผาทำลายซากพืช จะทำให้แมลงหนีและมีโอกาสอพยพเพื่อหาแหล่งอาหารใหม่ในพื้นที่ใกล้เคียง หรือเข้าสู่พื้นที่การผลิตของเราได้ง่ายขึ้น

น้ำกับการปลูกพืชในระบบไฮโดรโพนิกส์
น้ำนั้นมีความสำคัญมากในการปลูกพืชในระบบไฮโดรโพนิกส์ทุกระบบ ไม่ว่าจะเป็นในระบบ NFT, DFT, Aeroponics การปลูกในวัสดุปลูก หรือระบบอื่นๆที่ปลูกโดยไม่ใช้ดิน เนื่องจากน้ำเป็นตัวทำละลายธาตุอาหาร ซึ่งรากพืชต้องดูดไปใช้ ยกตัวอย่างง่ายๆคือ ถ้าน้ำมีคุณภาพดี ธาตุอาหารที่ใส่ลงไปในน้ำก็จะละลายได้หมด พืชก็สามารถนำไปใช้ได้อย่างเต็มที่ แต่ถ้าคุณภาพน้ำไม่ดี ธาตุอาหารที่ใส่ลงไปก็จะละลายไม่หมด เกิดการตกตะกอน พืชก็จะไม่สามารถนำไปใช้ได้ ทำให้พืชเกิดอาการขาดธาตุอาหาร เช่นใบเหลือง แคระแกร็น เป็นต้น น้ำจึงมีความสำคัญมาก ซึ่งเราควรพิจารณาเป็นลำดับแรกๆ ก่อนคิดลงทุนเพื่อปลูกเป็นระบบการค้า คำถามที่ตามมาก็คือ แล้ว ควรใช้น้ำอะไรในการปลูกดี ซึ่งแหล่งของน้ำที่จะนำมาใช้นั้นมีหลายประเภท ได้แก่
น้ำฝน จัดว่าเป็นน้ำที่ดีที่สุด มีค่า EC ต่ำ สิ่งเจือปนน้อย ที่สำคัญมีต้นทุนต่ำ โดยปกติน้ำฝนตามธรรมชาติจะมีความเป็นกรดเล็กน้อย เนื่องจากการละลายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ แต่ทว่าในเขตอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเสียออกมา จะทำให้เกิดสภาวะฝนกรด น้ำฝนที่เก็บได้จะมีค่า pH ต่ำลง ดังนั้นถ้าจะใช้พื้นที่ปลูกอยู่ในเขตอุตสาหกรรม ควรพิจารณาถึงส่วนนี้ด้วย รวมถึงอุปกรณ์ที่จะกักเก็บน้ำฝน ควรปิดมิดชิดพอสมควรเพื่อป้องกันฝุ่นละออง และเชื้อโรคต่างๆ
น้ำประปา จัดว่าเป็นน้ำที่หาได้ง่าย ต้นทุนไม่สูงมากนัก โดยทั่วไปในเขตกรุงเทพ น้ำประปามีคุณภาพค่อนข้างดี สามารถนำมาใช้ได้เลย แต่สำหรับในเขตต่างจังหวัด น้ำบางที่ก็มีคุณภาพดี บางที่คุณภาพไม่ดี ควรลองตรวจสอบค่าก่อนนำไปใช้
น้ำตก น้ำจากเขื่อน น้ำในแม่น้ำ น้ำคลอง แหล่งน้ำเหล่านี้ มักมีสารแขวนลอยสูง และคุณสมบัติของน้ำไม่คงที่ตลอดปี รวมถึงอาจมีเชื้อโรคที่อาจปะปนมากับน้ำ จึงไม่ค่อยเหมาะสมในการนำมาใช้ แต่อาจตรวจสอบคุณภาพน้ำก่อนก็ได้เพื่อความไม่ประมาท
น้ำบาดาล จัดเป็นแหล่งน้ำที่มีต้นทุนต่ำเช่นกัน การจะนำน้ำบาดาลมาใช้นั้นควรดูว่าในพื้นที่ของเรา มีน้ำหรือไม่ และสามารถขุดเจาะบาดาลได้หรือไม่ ในบางพื้นที่ไม่อนุญาติให้ขุดเจาะน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ แล้ว เพราะผิดกฎหมาย จึงควรตรวจสอบกับหน่วยงานของรัฐก่อน สำหรับคุณภาพน้ำบาดาลในแต่ละที่นั้นบอกไม่ได้ว่าดีหรือไม่ดี ต้องเก็บตัวอย่างนำมาวิเคราะห์ แต่เราอาจสอบถามได้จากบริษัทที่รับขุดเจาะบาดาล หรือเก็บตัวอย่างน้ำจากบ่อบาดาลในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงมาตรวจสอบเบื้องต้น เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐาน บางคนบอกว่าน้ำบาดาลมักมีสิ่งเจือปนสูงมาก โดยเฉพาะ สนิมเหล็ก หรือ โซเดียม ซึ่งเป็นอันตรายต่อพืช จริงๆแล้วเป็นเฉพาะบางพื้นที่ ไม่ใช่ทั้งหมด เราเคยพบว่าน้ำบาดาลบางแห่งมีคุณภาพดีมาก ดีกว่าน้ำประปา ก็มี บางแห่งคุณภาพใกล้เคียงกับน้ำฝน ก็มี ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ ดังนั้นถ้าจะเลือกใช้น้ำบาดาลควรตรวจอบคุณภาพก่อนจะดีที่สุด
EC คืออะไร และเลือกใช้อย่างไรดี ?
EC คืออะไร EC ย่อมาจากคำว่า Electric conductivity หมายถึง ค่าการนำไฟฟ้าของเกลือ(ในไฮโดรโพนิกส์จะหมายถึงเกลือของธาตุอาหาร)ทั้งหมดที่ละลายอยู่ในน้ำ โดยปกติแล้วน้ำบริสุทธิ์จะมีค่าความนำไฟฟ้าเป็นศูนย์ แต่เมื่อนำธาตุอาหารละลายในน้ำ เกลือของธาตุอาหารเหล่านี้จะแตกตัวเป็นประจุบวก และประจุลบ ซึ่งจะเป็นตัวนำไฟฟ้า ทำให้มีค่าความนำไฟฟ้า (Electric Conductivity) ซึ่งค่านำไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจะเป็นสัดส่วนโดยตรงกับปริมาณเกลือของธาตุอาหารที่ละลายอยู่ในน้ำ ดังนั้น เราจึงใช้การวัดค่าการนำไฟฟ้าของสารละลาย(ค่า EC) เพื่อเป็นตัวบอกปริมาณเกลือธาตุอาหารที่ละลายในน้ำ แต่การวัดค่า EC นั้นเป็นเพียงการวัดค่าโดยรวมไม่สามารถแยกบอกความเข้มข้นของเกลือแต่ละตัวได้ เช่น ถ้านำธาตุอาหาร A หรือ Bมาละลายในน้ำ เกลือของธาตุต่างๆ เช่น N,P,K ฯลฯ ก็จะละลายรวมกันอยู่ โดยที่เราไม่สามารถบอกได้ว่า มีธาตุอาหารแต่ละตัวอยู่เท่าไหร่ ตัวอย่างเช่นในน้ำมีเกลือ N+P+K ละลายรวมกันอยู่ และวัดค่า EC ได้ = 2.0 mS/cm เราไม่สามารถทราบได้ว่ามี N,P,K อยู่อย่างละเท่าใด ทราบเพียงแต่ว่ามีอยู่รวมกัน มีค่า = 2.0mS/cm ซึ่งค่า EC ที่วัดได้นี้จะนำไปใช้กับพืชที่เราจะทำการปลูก และควรรักษาระดับค่า EC ให้คงที่ และปรับค่าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ในสารละลายมีธาตุอาหารที่พืชสามารถจะนำไปใช้ได้ตลอดเวลาและพอเพียง โดยส่วนมากค่าที่ใช้วัดสำหรับการปลูกพืชจะอยู่ในช่วงตั้งแต่ 0.5-5.0 mS/cm โดยพืชแต่ละชนิดก็จะใช้ค่า EC ที่แตกต่างกันออกไป เครื่อง EC Meter เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มากและควรมีไว้ใช้ เพื่อตรวจสอบคุณภาพของน้ำ และตรวจสอบความถูกต้องของการละลายธาตุอาหารในระบบน้ำที่ใช้ในการปลูก เครื่อง EC Meter นั้นมีหน่วยการวัดค่าหลายหน่วยดังนั้น การเลือกซื้อเครื่องมือต้องดูให้เหมาะสมกับงานที่ใช้ โดยทั่วไประบบไฮโดรโพนิกส์ ควรเลือกเครื่องมือที่วัดได้ในช่วง 0 – 10 mS/cm ซึ่งน่าจะเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องเลือกเครื่องที่สามารถเลือกช่วงการวัดได้หลายช่วงในเครื่องเดียว เช่น เลือกได้จากช่วง 0 – 10 mS/cm, 0 - 20 mS/cm , 0-100 mS/cm ซึ่งราคาจะแพงและเป็นช่วงการวัดที่เราไม่ได้ใช้ โดยเฉพาะช่วงตั้งแต่ 10-100 mS/cm นอกจากนี้ควรสอบถามจากผู้ขายถึงวิธีการใช้งานและการดูแลรักษา และสิ่งที่สำคัญในการใช้เครื่องมือคือต้องมีการตรวจสอบค่าที่วัดได้จากเครื่องมือว่าถูกต้องหรือไม่อยู่เสมอๆ โดยใช้เครื่องมือวัดวัดค่าสารละลายที่เราทราบค่า EC ที่แน่นอนและอ่านค่าจากเครื่องมือถ้าค่าไม่ตรงกันต้องทำการตั้งค่าที่เครื่องมือให้ถูกต้องซึ่งวิธีการปรับค่าจะมีแนบมากับเครื่องมือที่ซื้อมา หรือสามารถขอจากผู้ขายได้โดยตรง
วิธีการปลูกพืชระบบ NFT ( Nutrient Film Technique)
สิ่งจำเป็นในการเพาะเมล็ด เมล็ดพันธุ์ผักสลัดทุกชนิดที่เรานำมาเพาะ ต้องการสิ่งสำคัญ 3 อย่าง สำหรับการงอกออกมาเป็นต้นกล้า ซึ่งก็คือ น้ำ, อากาศ หรือ ออกซิเจน และ แสงแดดครับ โดยน้ำและอากาศเป็นปัจจัยพื้นฐานอยู่แล้ว สำหรับแสงนั้น ในช่วง 2-3วันแรก เราให้แสงแบบรำไรก็พอ(ครับ) ไม่จำเป็นต้องให้แสงแดดจัด เพราะอาจจะทำให้อุณหภูมิสูง ส่งผลให้อัตราการงอก ลดลง ซึ่งโดยทั่วไปอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเพาะเมล็ดจะอยู่ในช่วง 20-25 องศาเซลเซียส และหลายๆ ท่านมีคำถามตามมาว่า แล้วอุณหภูมิของบ้านเราค่อนข้างร้อน จะทำอย่างไร เพราะอากาศร้อนเพาะเมล็ดแล้วไม่ค่อยงอก หรืองอกน้อยมาก วิธีที่จะช่วยได้คือ ให้เพาะเมล็ดในช่วงเย็น และเลือกใช้เมล็ดแบบเคลือบ จะช่วยได้มาก แต่ถ้าลองใช้วิธีนี้แล้วเมล็ดยังไม่งอกอีก เราคงต้องทบทวนถึงวิธีการเพาะว่า ท่านทำถูกขั้นตอนหรือไม่ เมล็ดพันธุ์ที่นำมาใช้ หมดอายุ หรืออาจจัดเก็บไม่ถูกวิธี ถ้าเจอปัญหาตรงไหนก็แก้ให้ตรงจุด เราเชื่อว่าเมล็ดจะงอกได้แน่นอน
วิธีการเพาะเมล็ด
1. ใส่วัสดุปลูก (Perlite) ลงในถ้วยเพาะประมาณ 3/4 ของถ้วย วางเมล็ดพันธุ์ลงบนวัสดุปลูก กลบเมล็ดเล็กน้อย ใช้กระบอกฉีดน้ำ พ่นน้ำให้ชุ่มเติมน้ำที่ถาดรองเพาะให้สูงประมาณ 0.5 ซม. (ใช้น้ำธรรมดาที่ยังไม่ได้เติมสารละลายธาตุอาหาร)
2. หมั่นคอยตรวจดูระดับน้ำในถาดรองเพาะ ต้องให้มีน้ำสูง 0.5 ซ.ม.เสมอ
3. ระยะเวลา 3 วันแรก ให้เก็บถาดเพาะไว้ในที่ร่ม หลังจากนั้นนำออกมารับแสงแดดรำไร และเมื่อสังเกตว่ามีมากกว่า 3 - 4 ใบ จึงจะนำไปรับแสงแดดได้
4. เมื่อต้นกล้าอายุครบ 1 สัปดาห์ เติมน้ำที่ผสมธาตุอาหารแล้วลงไปให้สูง 1 ซ.ม. หมั่นตรวจสอบระดับน้ำให้มีอยู่เสมอ
5. เมื่อต้นกล้าอายุครบ 2 สัปดาห์ สามารถย้ายลงรางปลูกได
วิธีการปลูก
1. หลังจากได้ต้นกล้าที่เพาะไว้แล้ว ให้นำต้นกล้าย้ายลงรางปลูกที่ได้เตรียมไว้แล้ว ล้างถังที่จะใส่สารละลายธาตุอาหารให้สะอาด เติมน้ำสะอาดประมาณ 3/4 ของถัง
2. ใส่สารละลายธาตุอาหารลงในน้ำสะอาดที่ได้เตรียมไว้ โดยให้ใส่ธาตุอาหาร Aและ B ในอัตราส่วนอย่างละ 3 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 1 ลิตร
3. ต่อไฟฟ้าเพื่อเดินเครื่องปั๊มน้ำให้น้ำไหลผ่านรางปลูก พร้อมกับทำการตรวจสอบระบบว่ามีที่ชำรุดรั่วไหลหรือไม่
4. ต้องเปลี่ยนน้ำทุก 10 วัน โดยถังน้ำควรมีฝาปิดเพื่อรักษาความสะอาดของน้ำ และป้องกันฝนที่จะทำให้สารละลายธาตุอาหารเจือจาง
5. ประมาณ 6 สัปดาห์ (40 – 45 วัน) ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น